งานเปิดแปลงกัญชง มข. “ร่วมคิด ร่วมฝัน ปลุกปั้น กัญชงไทย” ขึ้น ณ หมวดพืชผัก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น



ลงวันที่ : 07/04/2021



                เมื่อวันที่ 3 - 5 เมษายน 2564 ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา โดยกองบริหารงานวิจัย ร่วมกับ สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ได้จัดประชุมวิชาการและงานเปิดแปลงกัญชง มข. “ร่วมคิด ร่วมฝัน ปลุกปั้น กัญชงไทย” ขึ้น ณ หมวดพืชผัก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นอธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทัวร์แปลงกัญชง พร้อมรับฟังบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการปลูกแบบต่างๆ ของ มข. , การนำเส้นใยกัญชงไปใช้ประโยชน์และการผลิตเส้นใยกัญชง โดย ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกกัญชงกัญชา และ ครูนวลศรี พร้อมใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตภัณฑ์ใยกัญชงทรายทอง
เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 3 เมษายน ผู้เข้าร่วมฯ ได้รับฟังบรรยายพร้อมเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีคุณเบญจมาพร มามุข จากกองสื่อสาร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งหัวข้อที่เสวนานั้น มี 3 หัวข้อ คือ 1. เทคนิคและระบบการปลูก โดย นายวินัย สมประสงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองพันธุ์พืช จากกรมวิชาการเกษตร และ ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูก จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
2. การขับเคลื่อนนโยบายด้านกฏหมายในการนำกัญชงมาใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ และเรื่องการยื่นขออนุญาตต่างๆ โดย นายเชิดชัย อริยานุชิตกุล เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และ เภสัชกรหญิงอังศุรัตต์ ยิ้มละมัย เภสัชกรชำนาญการ
3. การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดย รองศาสตราจารย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชานนท์ ลาภจิตร
หลังจากนั้น ศ.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ได้มอบแนวทางในการสร้างความร่วมมือในการปลูกกัญชงสำหรับผู้เข้าอบรมในครั้งนี้ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทั้งสรุปผบการประชุมเสวนา และปิดการประชุม ในเวลา 18.00
ปัจจุบัน กัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp) ในประเทศไทยยังถูกจำแนกเป็นพืชเสพติดประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพราะพืชกลุ่มนี้มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) สารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท Cannabinol (CBN) และ Cannabidiol (CBD) สารต้านการออกฤทธิ์ของสาร THC ซึ่งในเฮมพ์มีปริมาณของสาร THC ต่ำกว่ากัญชามาก จากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับเฮมพ์จากทางลบกลายเป็นบวก เฮมพ์จึงเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่โดดเด่นเรื่องของเส้นใย รองลงมาคือสาร CBD ในเมล็ด ซึ่งเส้นใยเฮมพ์สามารถให้ผลผลิตมากกว่าการปลูกฝ้าย ให้คุณภาพสูงกว่า ใช้แรงงานในการปลูกน้อยกว่า ไม่ต้องใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปริมาณมาก เจริญเติบโตได้ง่าย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กัญชงเป็นพืชที่น่าจับตามองในเรื่องพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ อีกทั้งยังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในการนำเส้นใยกัญชงเข้ามาทดแทนเส้นใยสังเคราะห์ทั้งหมดในอนาคต