ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ชานนท์ ลาภจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชง และคณะ เข้าเยี่ยมชมโรงเรือน Indoor และให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการเกี่ยวกับระบบปลูกกัญชาแบบ Aeroponics



ลงวันที่ : 22/12/2021



                เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา นำทีมโดยศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ชานนท์ ลาภจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชง และคณะ เข้าเยี่ยมชมโรงเรือน Indoor และให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการเกี่ยวกับระบบปลูกกัญชาแบบ Aeroponics เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แก่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนวัน โอ วัน แคนนาบิส และบริษัท โอเรียนทอล แพลนเทชั่น จำกัด ซึ่งเป็น 1 ในจำนวน 23 เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านมาตรการการรักษาความปลอดภัยและมาตรฐานการผลิตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันเพื่อให้ได้รับอนุญาตผลิต (ปลูก) กัญชาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารวมถึงเพื่อให้การสนับสนุนการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
โดยในการดำเนินภารกิจในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์กชพร นานำผล ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนวัน โอ วัน แคนนาบิส นายอภิบาล ศรียาภัย CEO บริษัท โอเรียนทอล แพลนเทชั่น จำกัด นายอนุวัตร โสภาผล รองกรรมการผู้จัดการและนายอุดร ดงสุกแก้ว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด พร้อมคณะทำงาน ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมโรงเรือน Indoor และระบบปลูกกัญชาแบบ Aeroponics โดยทางเครือข่ายการปลูกกัญชากล่าวว่าขณะนี้ทางเครือข่ายมีความพร้อม 100% ทั้งทางด้านบุคลากร เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศ และแหล่งทุนในการเป็นต้นนำ้เพื่อผลิตกัญชาที่มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งในมนุษย์และสัตว์ได้
ภายในปี 2565 ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษาได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินภารกิจเยี่ยมชมและให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการแก่เครือข่ายการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ที่เหลืออีก 22 เครือข่าย และเครือข่ายการปลูกกัญชงเพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมทั้ง 17 เครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนการทำงานวิจัย (Research Transformation) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน