รายงานพิเศษ : ศูนย์สัตว์ทดลอง มข. จับมือ Kumamoto University ญี่ปุ่น ถ่ายทอดเทคนิคการเจริญพันธุ์ในสัตว์ ยกระดับงานวิจัยใช้สัตว์ทดลองสู่ระดับสากล



ลงวันที่ : 16/03/2022



               

ศูนย์สัตว์ทดลองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับCenter for Animal Resourcesand Development (CARD),Kumamoto University ประเทศญี่ปุ่นจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง“CARD-NELAC Online Workshopon Mouse Reproductive Technology” ผ่านระบบ VDO Conference โดยมี รศ.น.สพ.ดร.สมบูรณ์ แสงมณีเดช รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รศ.พญ.ดร.กุลธิดา เวทีวุฒาจารย์ รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบุคลากรศูนย์สัตว์ทดลองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งในการอบรมครั้งนี้มี Professor Toru Takeo และ Professor Seiji Okada พร้อมนักวิจัยจาก CARD, Kumamoto University เป็นวิทยากรบรรยายและดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Online Workshop on Mouse Reproductive Technology” มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดความรู้เทคนิคการเจริญพันธุ์ในสัตว์ทดลองขนาดเล็ก ประกอบด้วยเทคนิคผสมเทียม การเก็บรักษาตัวอ่อนในสภาวะเย็นจัด และการถ่ายฝากตัวอ่อนในหนูไมซ์ 

    รศ.พญ.ดร.กุลธิดา เวทีวุฒาจารย์ รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า การอบรมครั้งนี้เป็นการพัฒนาความรู้และเทคนิคการเก็บรักษาสายพันธุ์หนูไมซ์ในธนาคารสายพันธุ์ซึ่งจะจัดตั้งในศูนย์สัตว์ทดลองฯ ในอนาคตซึ่งจะทำให้นักวิจัยสามารถเลือกใช้สายพันธุ์หนูทดลองที่หลากหลายและเหมาะกับงานวิจัย เป็นการยกระดับการให้บริการของศูนย์สัตว์ทดลองฯ เพื่อรองรับงานวิจัยและการบริการทางการแพทย์ที่ต้องใช้หนูไมซ์สู่ระดับสากล 

“การอบรมครั้งนี้เป็นการอบรมเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ในหนูไมซ์ผ่านระบบออนไลน์ครั้งแรกของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ในช่วงแรกมีการวางแผนให้เป็นโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการที่จัด ณ ศูนย์สัตว์ทดลองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เราไม่สามารถเชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาได้ จึงต้องใช้การอบรมผ่านสื่อออนไลน์ แต่เราได้รับความร่วมมือจาก รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย (ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตตัวอ่อนหนูเม้าส์ในหลอดแก้วและการแช่แข็งตัวอ่อนด้วยวิธี vitrification) สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ช่วยบรรยายเทคนิคพื้นฐานให้กับเรา และแนะนำ คุณณัฐชนก พวงจิตร์ มาเป็นวิทยากรดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการในประเทศไทยด้วย 

                รศ.พญ.ดร.กุลธิดา กล่าวต่อไปว่า “งานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการใช้สัตว์ทดลองมากขึ้นและมีความต้องการหนูทดลองที่มีสายพันธุ์หลากหลายขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับงานวิจัย การนำเข้าหนูทดลองเหล่านี้จากต่างประเทศมาใช้เพื่อทำงานวิจัย ในรูปแบบมีชีวิตจะเพิ่มต้นทุนงานวิจัยอย่างมหาศาล ฉะนั้น หากเราสามารถผสมเทียม เก็บรักษาตัวอ่อนในสภาวะเย็นจัด และการถ่ายฝากตัวอ่อนที่เรานำเข้าจากต่างประเทศได้ที่นี่ ก็จะสามารถลดต้นทุนในการวิจัยได้ และยังทำให้นักวิจัยในมหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถเลือกใช้หนูทดลองที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์และตรงกับวัตถุประสงค์งานวิจัยของเขามากขึ้น”  ทั้งนี้ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “CARD-NELAC Online Workshop on Mouse Reproductive Technology” ได้รับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์และงบประมาณดำเนินการจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(TCELS) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) e-Asia JRP และบริษัท พัลซ ไซเอนซ์ จำกัดตัวแทนจำหน่ายกล้องโอลิมปัสในประเทศไทย
 





Link : https://www.naewna.com/local/638544?fbclid=IwAR1qsdjfaXJoF5JrD4WPDPKHzUyqmtRfMSdb3XMDjSNgs6n-UdMT2vBcvzo