มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดงานสัมมนา-เสวนาวิชาการ เรื่อง "รู้ทันกัญ : รับรู้และเข้าใจ ปลอดภัย ไม่เสียโอกาส" (EP.1)



ลงวันที่ : 07/07/2022



                มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดงานสัมมนา-เสวนาวิชาการ
เรื่อง "รู้ทันกัญ : รับรู้และเข้าใจ ปลอดภัย ไม่เสียโอกาส" (EP.1)
5 กรกฎาคม 2565 – มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานสัมมนา-เสวนาวิชาการ เรื่อง "รู้ทันกัญ : รับรู้และเข้าใจ ปลอดภัย ไม่เสียโอกาส" (EP.1) ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ระบบประชุมออนไลน์ ผ่าน ZOOM Meeting รวมถึงสามารถรับชมผ่าน Facebook live ของกองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยการจัดงานในครั้งนี้สืบเนื่องจาก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป ทำให้มีการใช้กัญชาอย่างแพร่หลายและเกิดกระแสการต่อต้าน ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้านตามมากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการออกประกาศ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือ กัญชง ในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัด และในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และมีประกาศของสถาบันการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับการห้ามใช้กัญชง กัญชา
ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา เผยว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล็งเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ประกอบกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ควรให้ข้อมูลด้านวิชาการที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อชี้นำสังคมด้านประโยชน์และโทษของกัญชากัญชง จึงได้จัดการสัมมนา-เสวนาวิชาการในหัวข้อเรื่อง รู้ทันกัญ : รับรู้และเข้าใจ ปลอดภัย ไม่เสียโอกาส Episode 1 การสัมมนา-เสวนาทางวิชาการครั้งนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการที่บรรยายโดยวิทยากรชื่อดังที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกัญชากัญชง มีองค์ความรู้ที่ได้รวบรวมมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ทั่วโลก บางท่านมีประสบการณ์การใช้พืชกัญชงกัญชาด้านการแพทย์ การใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและเวชสำอาง”
การสัมมนา-เสวนา ช่วงแรกจะเป็นการบรรยายในหัวข้อต่างๆ ดังนี้
- หัวข้อ: กัญชาในกระแสโลก วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- หัวข้อ: พ.ร.บ.ปลดล๊อคกัญชา และกฎหมายที่ควรรู้: เสรีอย่างไร อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
วิทยากรโดย ดร.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง
สภาผู้แทนราษฎร และคณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
- หัวข้อ: มูลค่าของกัญฯและกัญฯ มากแค่ไหน เรามาทำความรู้จักกัญฯ
วิทยากรโดย ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
- หัวข้อ: เลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชงกัญชาอย่างมั่นใจได้อย่างไร
วิทยากรโดย คุณนฤมล ฉัตรสง่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- หัวข้อ: กัญชง-กัญชา: ประโยชน์-โทษ และข้อควรระวัง (ประสบการณ์ใช้ในผู้ป่วยและร้านอาหาร)
วิทยากรโดย ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว รองผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
- หัวข้อ: ความก้าวหน้าและนโยบายด้านการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ และการใช้ประโยชน์ด้านกัญชงกัญชา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยากรโดย ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้อำนวยการสถาบันแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ได้บรรยายถึงเครือข่ายปลูกกัญชาและกัญชง รวมไปถึงปลายน้ำที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน ได้แก่
การนำสารสกัด CBD ไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมโดยบริษัทเอกชน ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องสำอาง และสารสกัด CBD และ THC กัญชาเพื่อการแพทย์
และช่วงที่ 2 จะเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองของแพทย์และเภสัชกรที่มากประสบการณ์ โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนา ดังนี้
1. รองศาสตราจารย์ พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล (มุมมองของแพทย์สาขาดูแลประคับประคอง)
2. ศาสตราจารย์ พญ.สุวรรณา อรุณพงศ์ไพศาล (มุมมองของจิตแพทย์)
3. รองศาสตราจารย์ นพ.บัณฑิต ชุมวรฐายี (มุมมองของแพทย์มะเร็งวิทยานรีเวช)
4. เภสัชกร สุโรจน์ แพงมา (มุมมองของเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น)
ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน ทั้งแบบ On site และ Online มีกลุ่มบุคลากร นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่สนใจ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยเปิดมุมมองทั้งด้านบวกและด้านลบ ไม่ให้เกิดความกลัวจากการไม่รู้ และทำให้ไม่เสียโอกาส ในแง่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือในด้านเศรษฐกิจ
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นางสาวงามจิตร กุดจอมศรี กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โทร. 081-5469228 E-mail: ngamchaitku@kku.ac.th