✿ กองบริหารงานวิจัยจัดกิจกรรมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัย R2D & IR ประจำปี 2568
ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยกองบริหารงานวิจัย ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมสำหรับนักวิจัยที่ได้รับทุนพัฒนางานประจำ ตามโครงการวิจัย R2D (Routine to Development) & IR ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัย และส่งเสริมความเข้าใจในกระบวนการวิจัยอย่างรอบด้าน
✿ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2568 ณ ห้องประชุม 2201 ชั้น 2 สถาบันวิจัยและพัฒนาครูสำหรับอาเซียน กิจกรรมนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “อบรมเชิงปฏิบัติการด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์” โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักจริยธรรมในการวิจัย และขั้นตอนการยื่นขอพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
กิจกรรมได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง เป็นวิทยากรบรรยายหลัก พร้อมด้วยการกล่าวรายงานเปิดกิจกรรมโดย รองศาสตราจารย์จงรักษ์ หงส์งาม โดยเนื้อหาได้เน้นการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับหลักการจริยธรรม ขั้นตอนการยื่นขอพิจารณาจริยธรรมการวิจัย รวมถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่นักวิจัยควรตระหนักก่อนดำเนินงานวิจัยกับมนุษย์ การสร้างความเข้าใจ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านจริยธรรมการวิจัย ที่จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพแก่บุคคลากรสายสนับสนุนให้สามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และมีมาตรฐาน
✿ และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผ่านมา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-13 มิถุนายน 2568 ณ ห้องประชุม 2101 ชั้น 1 สถาบันวิจัยและพัฒนาครูสำหรับอาเซียน กองบริหารงานวิจัย ได้จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ "Data Analysis & Research Methodology" ซึ่งครอบคลุมหัวข้อสำคัญ อาทิ
“การวิเคราะห์ข้อมูลวิจัยเชิงปริมาณด้วยโปรแกรม Microsoft Excel”
“การประยุกต์ใช้เครื่องมือวิเคราะห์กระบวนการในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน”
“การเรียนรู้เทคนิคการวิจัยเชิงคุณภาพ”
โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พชร ชาตะวิถี, รองศาสตราจารย์ ดร.ปณัทพร เรืองเชิงชุม, คุณพจน์ เดชเกิด, และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วณิชชา ณรงค์ชัย พร้อมคณะ
✿ ซึ่งทั้งสองกิจกรรมมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรวมกว่า 200 คน จากกลุ่มเป้าหมาย อาทิ บุคลากรสายสนับสนุน อาจารย์โรงเรียนสาธิต และนักวิจัยที่ได้รับทุน R2D & IR ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมนี้ เป็นไปเพื่อการให้ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มากประสบการณ์ รวมทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นที่น่าสนใจที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานวิจัยและงานประจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ